วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ยอดเขาเอเวอเรสต์



          คำว่า หิมาลัย (Himalaya) แปลว่า ที่ที่อุดมด้วยหิมะ คือชื่อของเทือกเขายาวและมียอดเขาสูงที่สุดในโลก ชื่อ Chomolungma ซึ่งแปลว่า เทพมารดาของโลกมนุษย์ เทือกเขานี้มีความยาว ๒,๕๐๐ กิโลเมตร และทอดตัวยาวตามแนวพรมแดนระหว่างอินเดียกับปากีสถาน โดยมีอาณาเขตทิศตะวันตกจดแม่น้ำสินธุ (Indus) และทิศตะวันออกจดแม่น้ำพรหมบุตร ทางด้านเหนือของเทือกเขาคือที่ราบสูงทิเบต และบริเวณส่วนกลางของเทือกเขาที่มีความกว้างประมาณ ๒๕๐ กิโลเมตรมียอดเขาสูงและหุบเหวลึกมากมาย
          ในหน้าร้อนเมื่อลมมรสุมพัดจากอ่าวเบงกอลเข้าสู่ลุ่มน้ำคงคา นำฝนสู่บริเวณตอนล่างของอินเดียและหิมะสู่บริเวณตอนเหนือ ทำให้ที่ระดับความสูงกว่า ๔,๕๐๐ เมตร มีหิมะปกคลุมทั้งปี เพราะเทือกเขาหิมาลัยมียอดเขาสูงกว่า ๗๐ ยอด ที่มีความสูงตั้งแต่ ๖,๐๐๐ เมตรขึ้นไป ดังนั้น การไต่เขาและการเดินทางผ่านภูเขาของนักผจญภัยจึงเต็มไปด้วยความยากลำบาก
          ใน พ.ศ. ๒๓๙๕ George Everest ได้เห็นยอดเขาสูงที่มีหิมะปกคลุมไกลไปทางเหนือของเทือกเขา ที่ตำแหน่งเส้นลองติจูด ๘๗˚ E และเส้นละติจูด ๒๘˚ N ตัดกัน เขาได้วัดความสูงของยอดเขานี้ และพบว่ามันเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก การวัดความสูงของภูเขาในเวลาต่อมาทำให้เรารู้ว่ามันสูงน้อยกว่า ๙ กิโลเมตรเล็กน้อย จากนั้นใน พ.ศ. ๒๔๐๘ ยอดเขายอดนี้ จึงได้ชื่อว่า ยอดเขา Everest  ตามชื่อของผู้พบและวัดความสูงของมันเป็นครั้งแรก
          เพราะเหตุว่าคนเนปาลและทิเบตไม่ชอบสังคมกับโลกภายนอก ดังนั้น โลกจึงไม่รู้จักเทือกเขาหิมาลัยนี้นัก แต่ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ นั่นเอง เนปาลและทิเบตก็ได้เริ่มเปิดประเทศ นักไต่เขาต่าง ๆ จึงได้มีโอกาสเดินทางไปสำรวจภูเขาลึกลับชื่อหิมาลัยนี้
          ความยากลำบากในการขออนุญาตไต่เขาคือปัญหาหนึ่งที่นักไต่เขาต้องเผชิญ ทั้งนี้เพราะภูเขาหิมาลัยเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของชาวเนปาล ดังนั้น ใน พ.ศ. ๒๔๖๕ ความพยายามไต่เขาหิมาลัยจึงได้บังเกิดเป็นครั้งแรก แต่ความหนาว ความสูง อาหาร เสื้อผ้า และอุปกรณ์ไต่เขาที่จำเป็นต้องใช้ในการไต่เขา ได้ทำให้นักไต่เขาต้องตัดสินใจว่าจะนำปัจจัยอะไรติดตัวไปบ้าง และในฤดูหนาวเมื่อลมหนาวพัด นักไต่เขาจะต้องระมัดระวังมากในการไต่เขา แต่ในฤดูร้อนเมื่อลมมรสุมพัดถึงบริเวณเทือกเขา ไอน้ำที่มีในลมมรสุมก็จะเปลี่ยนสภาพเป็นหิมะ ซึ่งมีผลทำให้อันตรายในการไต่เขายังเพิ่มสูงขึ้นไปอีก เพราะหิมะเหล่านี้จะไม่จับตัวแข็ง แต่จะเป็นหิมะที่ถล่มง่ายเพราะนุ่ม  ซึ่งทำให้การไต่เขาเป็นไปได้อย่างลำบากเช่นกัน ดังนั้น วงการนักไต่เขาจึงมีความเห็นว่า ฤดูไต่เขาที่ดีที่สุดเห็นจะเป็นฤดูใบไม้ผลิ
          ปัญหาอีกปัญหาหนึ่งของการไต่เขาที่นักไต่เขาทุกคนต้องคำนึงถึงคือ อิทธิพลความสูงที่มีต่อร่างกาย เมื่อคนเราเดินหรือปีนเข้าสู่ระดับยิ่งสูง ปริมาณออกซิเจนที่มีในอากาศระดับนั้นจะน้อย ดังนั้น ยิ่งสูงก็ยิ่งหายใจยาก อย่างไรก็ตาม ร่างกายมนุษย์สามารถปรับตัวได้ดีในช่วงความสูงที่ต่ำกว่า ๕,๕๐๐ เมตร แต่ที่ระดับความสูง ๕,๕๐๐-๗,๓๐๐ เมตร การปรับตัวของร่างกายแทบจะเป็นไปได้ไม่ง่ายเลย และที่ระดับความสูงกว่า ๗,๓๐๐ เมตร ร่างกายมนุษย์จะไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้อีกต่อไป ดังนั้น นักไต่เขาจะพบว่ายิ่งขึ้นสูงความอ่อนแอของร่างกายก็ยิ่งมาก และยิ่งอยู่บนยอดเขานานร่างกายของเขาก็ยิ่งเพลีย
          ใน พ.ศ. ๒๔๖๕ ได้มีความพยายามไต่ยอดเขา Everest เป็นครั้งแรก แต่นักไต่เขาก็กระทำได้แค่สำรวจบริเวณรอบ ๆ และประเมินเส้นทางที่ดีที่สุดที่ต้องใช้ในการขึ้นสู่ยอดเขา และก็ได้พบว่าเขาต้องขนเสบียง เต๊นท์ และอุปกรณ์ไต่เขาอย่างครบครันไปบนหลังลาก่อน แต่เมื่อการเดินทางยากลำบากชาว Sherpa ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น จะใช้ม้าและวัว yak ในการขนสัมภาระแทน และเมื่อยอดเขายิ่งชัน นักสำรวจก็ต้องให้ลูกหาบชาว Sherpa ขนสัมภาระแทน
          ในการไต่เขาครั้งที่ ๒ คณะไต่เขาได้ไต่ถึงระดับความสูง ๘,๒๓๐ เมตร และในการไต่เขาครั้งต่อมาสถิติระดับความสูงก็ยิ่งเพิ่ม ใน พ.ศ. ๒๔๖๗ คณะสำรวจซึ่งนำโดย George Mallory วัย ๓๘ ปี และ Andrew Irvine วัย ๒๒ ปีได้ตัดสินใจไต่เขา Everest และในวันที่ ๘ มิถุนายน ของปีนั้นขณะเวลา ๑๒.๕๐ น. คือหลังเที่ยงวันเล็กน้อยนักสำรวจคนอื่น ๆ ได้เห็นนักไต่เขาทั้งสองอยู่ห่างจากยอดเขา Everest ประมาณ ๓๐๐ เมตร และขณะนั้นได้มีเมฆลอยเข้าปกคลุมยอดเขา จากนั้นก็ไม่มีผู้ใดเห็น Mallory และ Irvine อีกเลย
          ปริศนาที่ค้างคาใจคนทุกคนคือคนทั้งสองได้ขึ้นถึงยอดเขา Everest เป็นคณะแรกหรือไม่
          ใน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้มีการพบศพแช่แข็งของ Mallory ที่คว่ำหน้าอยู่บนหิมะ โดยมีไหล่และแขนหัก และเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ Eric Simonson แห่งเมือง Ashford ในรัฐ Washington ของสหรัฐอเมริกาได้พบแว่นกันแดด อุปกรณ์วัดความสูง ถุงเท้า ถุงมือ มีดพร้า เชือก ผ้าเช็ดหน้าที่มีอักษรย่อปักว่า GLM รวมถังออกซิเจนของ Mallory ที่ระดับความสูง ๘,๒๐๐ เมตร แต่ไม่พบกล้องถ่ายรูปที่ Irvine พกติดตัว และยังไม่พบศพของ Irvine เลย การขาดหายของหลักฐานกล้องถ่ายรูปนี้ ทำให้นักไต่เขาหลายคนสงสัยว่า คนทั้งสองคงได้ขึ้นถึงยอดเขา และคงได้ถ่ายรูปเป็นหลักฐาน ดังนั้น การพบหลักฐานจะทำให้ Mallory กับ Irvine ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลแรกที่ไต่ยอดเขา Everest สำเร็จ แต่เมื่อยังไม่มีใครเห็นหลักฐานนี้ชื่อของ Mallory และ Irvine จึงต้องคอยการยอมรับ
          ในที่สุด ใน พ.ศ. ๒๔๙๖ Edmund P. Hillary ชาวนิวซีแลนด์ และ Tenzing Norgay ชาวเนปาลเผ่า Sherpa ก็ประสบความสำเร็จในการพิชิตยอดเขา Everest สำเร็จเป็นครั้งแรกเมื่อเวลา ๑๑.๓๐ น. ของวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ภายใต้การนำของนายพล John Hunt และหลังจากที่ Hillary กับ Tenzing ประสบความสำเร็จแล้ว ก็มีนักสำรวจชาติอื่นประสบความสำเร็จในการพิชิตยอดเขา Everest เมื่อเดือนกันยายนปีนี้ Sherman Bull วัย ๖๔ ปี เป็นชายอายุมากที่สุด ในโลกที่พิชิตเขา Everest ส่วน Babu Chiri ชาวเนปาลเป็นคนที่ใช้เวลาน้อยที่สุดในการไต่เขา และอยู่บนยอดเขา Everest นานที่สุด นักไต่เขาสตรีคนแรกที่พิชิตเขา Everest คือ Junko Tabei ชาวญี่ปุ่น ในปี ๒๕๑๘ ทุกวันนี้มีคนกว่า ๘๐๐ คน ที่ได้ยืนสัมผัสเขา Everest แล้ว และเราเชื่อว่าจำนวนบุคคลพิเศษกลุ่มนี้จะเพิ่มมากขึ้นทุกปีในอนาคต
          ปัญหาความสูงของยอดเขา Everest ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่นักธรณีวิทยาสนใจ เมื่อ ๒ ปีก่อน นักไต่เขา Everest ได้นำอุปกรณ์ที่มีอักษรย่อว่า GPS = Global Positioning System ไปติดตั้งบนยอดเขา อุปกรณ์ที่สามารถรับส่งสัญญาณจากดาวเทียมได้ การรู้เวลาที่สัญญาณเดินทางทำให้นักธรณีวิทยาสามารถบอกตำแหน่งของมันได้แม่นยำ ซึ่งการรู้ตำแหน่งที่ละเอียดจะทำให้นักแผนที่และนักธรณีวิทยาสามารถรู้ความสูงของภูเขาได้ถูกต้องและละเอียดด้วย
          ในการวัดของ George Everest เมื่อ ๒๐๐ ปีก่อน โดยการสังเกตความสูงของยอดเขา จากสถานที่ต่าง ๆ ในอินเดีย ทำให้ได้ความสูงเท่ากับ ๘,๘๔๖ เมตร แต่เมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีมานี้เองเทคโนโลยีการวัดที่ทันสมัยขึ้น ทำให้ได้ความสูงเท่ากับ ๘,๘๘๘ เมตร และเมื่อเนปาลเปิดประเทศ นักสำรวจก็สามารถเดินทางเข้าไปสำรวจใกล้ภูเขาได้ ซึ่งทำให้ระดับความสูงเปลี่ยนไปเป็น ๘,๘๕๔ เมตร แต่เมื่อนักธรณีวิทยาได้พบว่า เปลือกทวีปส่วนนี้มีการเคลื่อนที่ โดยเทือกเขาหิมาลัยทั้งเทือกขยับเคลื่อนเข้าชนผืนแผ่นดินใหญ่ของจีนด้วยความ "เร็ว" ๕ เซนติเมตร/ปี อิทธิพลนี้ทำให้ตำแหน่งของยอดเขา Everest เคลื่อนที่ขึ้นไปทางทิศเหนือตลอดเวลา และเมื่อระดับน้ำทะเลมีการแปรเปลี่ยน ดังนั้น ในการที่จะรู้ความสูงของยอดเขาเหนือระดับน้ำทะเล ความสูงของระดับน้ำทะเลก็เป็นข้อมูลที่สำคัญ
          โครงการวัดความสูงของ Everest ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง Bradford Washburn แห่ง Boston Museum of Science และนักธรณีวิทยาชื่อ Roger Bilham แห่งมหาวิทยาลัย Colorado ที่ Boulder ในสหรัฐอเมริกาจึงเกิด และนักวิชาการทั้งสองก็ได้ใช้อุปกรณ์ GPS อ่านระยะทางที่ยอดเขาสูงอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางของโลก  และเมื่อลบด้วยระยะทางที่ระดับน้ำทะเลอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางของโลก เขาก็ได้ความสูง ๘,๘๕๕.๖๗ ± ๒.๑๓ เมตร ต้นเหตุความผิดพลาดการวัดนี้มีหลายประการ ได้แก่ การมีหิมะที่หนาปกคลุมยอดเขา ดังนั้น ความสูงของยอดเขาจึงไม่ใช่ความสูงจริง และเมื่อการเคลื่อนที่ของเปลือกทวีปทำให้ยอดเขา Everest มีความสูงเพิ่มขึ้น ๕-๖ มิลลิเมตร/ปี เราจึงรู้ความสูงนี้เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา
          ปัญหาความสูงมิใช่เป็นปัญหาใหญ่ ปัญหาเดียวที่ Everest กำลังสร้างปัญหาขยะที่มีผู้ทิ้งเกลื่อนกลาด ตามบริเวณภูเขาก็เป็นปัญหาที่หนักอกหนักใจนักนิเวศวิทยามาก เพราะเมื่อ ๕ ปีก่อนนี้เองโครงการกำจัดขยะเก็บขยะในบริเวณยอดเขา Everest ได้ ๙ ตันจาก ๒๑ ตันที่มี ดังนั้น รัฐบาลเนปาลจึงได้เก็บเงินค่าไต่เขาคณะละ ๑๘๐,๐๐๐ บาท เพื่อว่าจ้างคนเนปาลให้ทำหน้าที่เป็นลูกหาบนำขยะ อันได้แก่ อุปกรณ์ไต่เขาที่ชำรุด เศษอาหาร ถังออกซิเจนที่ใช้แล้ว บันไดอะลูมิเนียม เชือก และแม้กระทั่งศพไปทิ้งให้เป็นที่เป็นทาง แต่การเก็บเงินค่าไต่เขามากเช่นนี้ ก็ทำให้นักไต่เขาหลายคนคิดว่าแพง
          ถึงกระนั้นก็คงไม่มีใครคิดว่า เงินที่เสียไปคือการซื้ออิสรภาพที่จะทิ้งปฏิกูลได้ตามอำเภอใจ


แหล่งที่มาข้อมูล : http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=909

วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เตือน 30 จังหวัดเสี่ยง ให้เตรียมพร้อมรับมือพายุแกมี



หลังพัดผ่านเวียดนาม-ลาวในช่วงวันที่ 6-7ต.คนี้ ขณะที่ผู้ว่าฯ มั่นใจ กทม.ระบายน้ำทัน แม้จะมีฝนหนักจากอิทธิพลของพายุ
จากกรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศเตือนให้ไทยเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันจากปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักในช่วงวันที่ 6 -7 ตุลาคม หลังได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุแกมี ที่จะพัดพาดผ่านเวียดนามและลาวในช่วงวันและเวลาดังกล่าวนั้น
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ก็ได้แจ้งประกาศเตือนเพิ่มเติมให้ 30จังหวัดจุดเสี่ยง ที่ลาดเชิงเขา ที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ทางน้ำไหลผ่าน อาทิเช่น ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว นครนายก ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ชลบุรี ระยอง ตราด ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง ระนอง และสตูล
ให้เตรียมความพร้อมกับสถานการณ์ฝนตกหนักที่จะทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์ของประชาชนในพื้นที่ ขณะเดียวกันก็ให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดด้วย
ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็ได้กล่าวถึงการเตรียมพร้อมรับมือกับพายุแกมีว่า ในวันนี้ (3 ต.ค.) จะเรียกประชุมผู้อำนวยการเขตทั้ง50เขตเข้าหารือ พร้อมทั้งเร่งผันน้ำในคลองต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือน้ำฝนที่เกิดจากพายุแกมี

แหล่งที่มาข้อมูล : http://news.mthai.com/headline-news/194632.html