ชื่อสามัญ : Sacred Barnar, Caper Tree
วงศ์ : Capparaceae
ชื่ออื่น : ผักกุ่ม
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นขนาดกลาง สูง 6-10 ม. ใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบย่อย 3 ใบ ก้านใบประกอบยาว 7-9 ซม. ใบย่อยรูปรีหรือรูปไข่ กว้าง 4-6 ซม. ยาว 7.5-11 ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนแหลมหรือสอบแคบ ขอบเรียบ ใบย่อยที่อยู่ด้านข้างโคนใบเบี้ยว แผ่นใบค่อนข้างหนา เส้นแขนงใบข้างละ 4-5 เส้น ก้านใบย่อยยาว 4-5 มม. ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบใกล้ปลายยอด ก้านดอกยาว 3-7 ซม. กลีบเลี้ยงรูปรี กว้าง 2-3 มม. ยาว 4-5 มม. เมื่อแห้งมักเป็นสีส้ม กลีบดอกสีขาวอมเขียวแล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือชมพูอ่อน รูปรี กว้าง 0.8-1.5 ซม. ยาว 1.2-1.8 ซม. โคนกลีบเป็นเส้นคล้ายก้าน ยาว 3-7 มม. เกสรเพศผู้สีม่วง มี 15-22 อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 4 ซม. ก้านชูเกสรเพศเมียยาวประมาณ 5 ซม. รังไข่ค่อนข้างกลมหรือรี มี 1 ช่อง ผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3.5 ซม. เปลือกมีจุดแต้มสีน้ำตาลอมแดง เมื่อแก่เปลือกเรียบ ก้านผลกว้าง 2-4 มม. ยาว 5-13 ซม. เมล็ดรูปคล้ายเกือกม้าหรือรูปไต กว้างประมาณ 2 มม. ยาวประมาณ 6 มม. ผิวเรียบ
สรรพคุณ :
ใบ - ขับลม ฆ่าแม่พยาธิ เช่น พวกตะมอย และทาแก้เกลื้อนกลาก
เปลือก - ร้อน ขับลม แก้นิ่ง แก้ปวดท้อง ลงท้อง คุมธาตุ
กระพี้ - ทำให้ขี้หูแห้งออกมา
แก่น - แก้ริดสีดวง ผอม เหลือง
ราก - แก้มานกษัย อันเกิดแต่กองลม
เปลือก - ใช้ทาภายนอก แก้โรคผิวหนัง
แหล่งที่มาข้อมูล : http://www.rspg.or.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น