วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ปริมาณน้ำในโลก



 Imageหัวใจของภาคการเกษตร  คือน้ำ  ไม่ว่าจะเป็นการปลูกในรูปแบบใดก็ตาม  การเพาะปลูกจะดีหรือไม่ จะขึ้นอยู่กับปริมาณและคุณภาพของแหล่งน้ำที่ใช้เป็นอย่างมาก  การติดตามสถานการณ์น้ำของประเทศ   และโครงสร้างการเปลี่ยนแปลงน้ำในโลก  ซึ่งล้วนมีผลกระทบกับเราทั้งสิ้น  ถือเป็นการเรียนรู้เพื่อปรับเปลี่ยนแนวทาง และสามารถรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้เป็นอย่างดี


ปริมาณน้ำในโลก


ถึงแม้ว่าน้ำครอบครองพื้นผิวโลกไว้ถึงสองในสามส่วน  แต่ร้อยละ 97  ของน้ำในโลกเป็นน้ำทะเลในมหาสมุทร  เพียงร้อยละ 3 เท่านั้นที่เป็นน้ำจืด  ในร้อยละ 3 นี้ แบ่งเป็นน้ำแข็งที่ขั้วโลกและกลาเซียร์ ร้อยละ 2.4  ประมาณร้อยละ 0.5 เป็นน้ำใต้ดิน  ส่วนน้ำจืดในแม่น้ำและแหล่งน้ำผิวดินทั้งหลายที่เราใช้กันอยู่ คิดเป็นปริมาณน้ำเพียงร้อยละ 0.01 ของน้ำในโลกเท่านั้น


เราไม่สามารถใช้น้ำทั้งหมดที่ตกลงสู่พื้นดินได้  น้ำจำนวนหนึ่งระเหยกลับไปในบรรยากาศ  ส่วนหนึ่งกระจายอยู่ตามโพรง  ตามช่องว่างของหินและดิน  มีน้ำเพียงบางส่วนที่ไหลรวมลงสู่แหล่งน้ำทั้งบนดินและใต้ดิน  ปริมาณน้ำที่ใช้ได้ดังกล่าวยังถูกปนเปื้อนตามกระบวนการตามธรรมชาติ  และจากของเสียต่างๆที่มนุษย์ก่อขึ้น

น้ำที่เราใช้สอยได้  มีไม่มากอย่างที่คิด


เมื่อโลกร้อนขึ้น  แหล่งน้ำลดลง

ภาวะเรือนกระจกเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นในอัตราก้าวหน้า  จนสังเกตเห็นได้ชัดในช่วงสองศตวรรษที่ผ่านมา


ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญที่สุดตัวหนึ่ง มีปริมาณสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว  เนื่องจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่มาจากฟอสซิล  เช่น ถ่านหิน  น้ำมัน  และก๊าซธรรมชาติ  นับตั้งแต่เริ่มมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา


ก๊าซเรือนกระจกมีคุณสมบัติยอมให้รังสีจากดวงอาทิตย์ทะลุผ่านเข้ามาได้  แต่เมื่อกระทบกับผิวโลก กลายเป็นคลื่นความร้อนแล้ว  จะไม่สามารถผ่านชั้นก๊าซเรือนกระจกออกไปได้  ความร้อนจึงถูกกักเก็บไว้ในชั้นบรรยากาศของโลก


การที่บรรยากาศของโลกร้อนขึ้นนี้  ส่งผลต่อระบบลมและวัฏจักรของน้ำ  ปรากฏการณ์ที่ตามมาก็คือ  เกิดฝนตกมากขึ้นในบริเวณใกล้ฝั่งทะเล  แต่ในบริเวณตอนกลางทวีปจะมีความแห้งแล้งมากขึ้น  การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนี้เป็นปรากฏการณ์ในระดับโลก  ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


เมื่อมองการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโดยรวมแล้ว  จะพบว่าอุณหภูมิในประเทศไทยตอนบนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น  จำนวนวันที่ร้อนจัดหรือวันที่มีอุณภูมิสูงเกินกว่า 33 องศาเซลเซียส มีแนวโน้มมากขึ้น  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ  ฤดูร้อนมีแนวโน้มที่จะยาวนานขึ้น


ผลจากการคำนวณได้แสดงให้เห็นว่า  ภาคเหนือตอนบนโดยเฉพาะฝั่งตะวันตก มีแนวโน้มที่ฝนจะลดลง  ส่วนภาคอีสานมีแนวโน้มที่จะมีฝนมากขึ้นบ้างเล็กน้อยในตอนล่างของภาค


ในช่วงกลางศตวรรษ  เมื่อปริมาณฝนในบริเวณภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกลดน้อยลง  ก็อาจส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่เขื่อนภูมิพลลดลงด้วย  ซึ่งจะส่งผลกระทบตามมาในอีกหลายรูปแบบ


ส่วนปริมาณฝนที่เพิ่มสูงขึ้นในฤดูฝนที่ยาวนานเท่าเดิมในภาคอีสานในช่วงศตวรรษนี้  อาจส่งผลให้เกิดปัญหาภัยน้ำท่วมในเขตลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูลที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิม  นอกจากนี้การเปลี่ยนรูปแบบของฤดูฝน  ถึงแม้ว่าปริมาณน้ำฝนจะเท่าเดิมหรือสูงขึ้น  ก็จะส่งผลกระทบถึงการเพะปลูกอีกด้วย


โลกมีโอกาสก้าวเข้าสู่ช่วงวิกฤตในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า  เมื่อความต้องการน้ำมีมากกว่าปริมาณน้ำที่ใช้ได้  หากอัตราการเพิ่มขึ้นของการใช้น้ำและการก่อน้ำเสียยังเป็นอยู่เช่นทุกวันนี้


ที่มา : "อาหารและน้ำ  ความอยู่รอดและความสุขที่ยั่งยืน" โดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น