NIKE
แบรนด์อุปกรณ์กีฬา กับการออกแบบสินค้ารักษาสิ่งแวดล้อม
สำหรับทศวรรษนี้ การใช้สารเคมี สารพิษ พลาสติก ก๊าซ และผลิตภัณฑ์กาวทำลายสิ่งแวดล้อมต่างๆ ดูจะเป็นเรื่องล้าสมัยมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่วัสดุอย่างป่าน ปอ กัญชง ฝ้ายออร์แกนิค ไม้ ยางรีไซเคิล และการย้อมสีธรรมชาติ กลับได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องมาจากผลของสภาวะโลกร้อน และนั่นคือเหตุผลที่ บริษัทรองเท้า เสื้อผ้า และอุปกรณ์กีฬาระดับโลกอย่างไนกี้ (Nike) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่รัฐโอเรกอน ได้ประกาศออกแบบสินค้าใหม่ๆ ภายใต้คอนเซ็ปต์ คอนซิเดอร์ด (Considered) หรือการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จนได้รับจัดอันดับด้านการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมจากนิตยสาร Business Ethics ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 13 ในปี 2006
ข่าวคราว Green ล่าสุดจากไนกี้ที่มาจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมและเราจะได้เห็นกันเต็มๆ ในศึกฟุตบอลโลก 2010 รอบสุดท้ายในช่วงตลอดเดือนมิถุนายนนี้ ที่ประเทศแอฟริกาใต้ ก็คือ ชุดเสื้อผ้านักกีฬาโพลีเอสเตอร์รีไซเคิล 100% ที่มีเทคโนโลยีอันทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในประวัติศาสตร์วงการฟุตบอล โดยทำมาจากขวดพลาสติกทั้งสิ้น 13 ล้านขวด โดยเสื้อแต่ละตัวใช้ขวดพลาสติกรีไซเคิล 8 ขวดในการผลิต เก็บรวมรวมขวดพลาสติกมาจากที่ทิ้งขยะในญี่ปุ่นและไต้หวัน จากนั้นจึงนำมาละลายและทำเป็นเส้นด้ายใหม่เพื่อนำมาทอเป็นเสื้อ
กระบวนการดังกล่าวช่วยประหยัดวัตถุดิบและช่วยลดการใช้พลังงานได้สูงสุด 30% เมื่อเทียบกับการผลิตโพลีเอสเตอร์บริสุทธิ์ และการที่ไนกี้นำโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลมาใช้ผลิตเสื้อช่วยลดจำนวนขยะขวด พลาสติกได้ถึง 13 ล้านขวด หรือคิดเป็นขยะโพลีเอสเตอร์จำนวน 254,000 กิโลกรัม ซึ่งจำนวนดังกล่าวสามารถคลุมสนามฟุตบอลได้กว่า 29 สนาม และหากนำขวดดังกล่าวมาต่อหัวท้ายกันจะมีความยาวถึง 3,000 กิโลเมตร หรือยาวกว่าชายฝั่งแอฟริกาใต้ทั้งหมด โดยทีมชาติที่จะสวมใส่ชุดฟุตบอลใหม่ของไนกี้ลงแข่งขันฟุตบอลโลก 2010 ที่แอฟริกาใต้ ประกอบด้วย บราซิล เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เซอร์เบีย และสโลเวเนีย
ไนกี้ คอนซิเดอร์ด เริ่มต้นด้วยการผสานหลักการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเข้าไปในกระบวนการผลิต โดยอาศัยทั้งนักออกแบบ นักเคมี ชีววิทยา และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสิ่งทอ กรณีเช่น John R. Hoke III รองประธานด้านการออกแบบ ผลักดันให้เพื่อนพนักงานใช้พลังงานไฟฟ้าและสารเคมีในผลิตภัณฑ์รองเท้าให้น้อยลง และไม่ใช้กาว สารยึดติด และพลาสติก แล้วทั้งหมดนี้ก็นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมใหม่ คือการเย็บรองเท้าแบบเฉพาะ โดยใช้ฝ้ายออร์แกนิค ไนกี้พยายามเลือกใช้วัสดุที่ไม่เป็นสารเคมีและสามารถหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ได้ พร้อมทั้งสร้างขยะให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด
สินค้าจากคอนเซ็ปต์ไนกี้ คอนซิเดอร์ด อาทิเช่น Considered Boot ที่เปิดตัวในปี 2005 ซึ่งทำเชือกรองเท้าและตัวรองเท้าด้วยใยกัญชง, Soaker water shoe ในปี 2007 ซึ่งใช้สารยึดติดเพียงเล็กน้อย ใช้ยางรีไซเคิลด้านข้างของรองเท้า และทำเชือกรองเท้าด้วยโพลีเอสเตอร์รีไซเคิล, Nike “long ball” ที่ไม่ใช้กาวและสารเคมีในเชือกรองเท้าเลยแม้แต่น้อย และใช้ไม้ก๊อกแทนการใช้ยาง ทำให้ “long ball” เป็นรองเท้ากีฬาที่สามารถย่อยสลาย (biodegradable) และนำมารีไซเคิลได้ทั้งหมด 100% และปี 2007 นี้เอง ไนกี้ คอนซิเดอร์ดก็ได้ขยายจากแค่การสร้างรองเท้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไปยังอุปกรณ์กีฬาและเสื้อผ้าด้วย รวมถึงการฝังความคิดการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมให้แก่บริษัทในเครือซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลและบริหารงานของไนกี้ทั้งหมด ภายในปี 2011
การสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในผลิตภัณฑ์ของไนกี้นั้น บางครั้งก็ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ดีๆ ให้แก่ธุรกิจได้อีก เช่นตัวอย่างของเทคโนโลยีไนกี้ แอร์ แบ็ก (Nike’s air-bag, air pocket) จากเดิมที่อากาศหรือก๊าซภายในตัวรองเท้า (ช่วยลดแรงกระแทก) เป็นซัลเฟอร์เฮซะฟลูออไรด์ ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากกว่า 6 ล้านตันในปี 1997 นักออกแบบและนักวิทยาศาสตร์ของไนกี้พยายามแก้ไขปัญหานี้อย่างมาก ซึ่งใช้เวลาถึง 14 ปี จนกระทั่งสามารถลดใช้ก๊าซฟลูออรีนลงไปได้ โดยไนกี้ใช้เทคนิคขึ้นรูปรองเท้าด้วยการให้ความร้อนพลาสติกเป็น 65 ชั้น เพื่อให้บริเวณพื้นรองเท้าแข็งแรงมากพอที่จะช่วยลดการกระแทกได้ดีกว่าการใช้ air pocket วิวัฒนาการครั้งใหญ่นี้ทำให้เกิดเป็นรองเท้ากีฬา Nike Air Max 360 ซึ่งไนกี้บอกว่าเป็นจุดสูงสุดที่เขาแสนภูมิใจของ Nike Air technology ที่กำเนิดเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1978
Tom Hartge ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ และผู้จัดการด้านผลิตภัณฑ์ของไนกี้ ซึ่งมุ่งมั่นจัดการเรื่องก๊าซฟลูออรีนดังกล่าว พูดว่า ไนกี้ต้องการทำสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่สิ่งแวดล้อมและตัวนักกีฬา และพยายามให้ทั้งสองเรื่องนี้เดินไปด้วยกันได้อย่างดี และขณะที่กลยุทธ์เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจเหล่านี้ดำเนินไป คู่ค้าและร้านค้าปลีกสาขาต่างๆ ของไนกี้ต่างก็คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยปัจจุบันมีประมาณ 70% ที่ใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไนกี้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2011 จะให้เพิ่มขึ้นเป็น 84% ทั้งนี้การพัฒนายางตัวใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ลดสารพิษลงได้ 96% ของไนกี้ ทำให้ลดสารพิษในผลิตภัณฑ์ทั้งหมดได้ถึง 3,000 ตัน และยังเริ่มการใช้โพลีเอสเตอร์รีไซเคิล ซึ่งทำมาจากขวดพลาสติกใช้แล้ว
ในปีงบประมาณ 2006 ไนกี้ยังรักษาฐานะผู้นำด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมเอาไว้ โดยการใช้ผ้าฝ้ายที่ปลูกแบบออร์แกนิคสำหรับทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากกว่า 50% ซึ่งถือเป็นบริษัทผู้ซื้อฝ้ายออร์แกนิคเจ้าใหญ่แห่งหนึ่งของโลก และตั้งเป้าว่าจะใช้ฝ้ายออร์แกนิคอย่างน้อย 5% ในสินค้าที่ใช้ผ้าทุกรายการ
นอกจากนี้ บริษัท ไนกี้ ได้พยายามเลือกรับซื้อวัตถุดิบจากสถานที่ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงงานผลิตมากนัก คือ ไม่เกิน 200 ไมล์ เพื่อลดการเผาผลาญพลังงานจากการขนส่งไกลๆ ทั้งยังขอให้โรงฟอกหนังจัดการเรื่องสารพิษในน้ำเสีย และใช้สีย้อมจากพืชธรรมชาติ ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด
ไนกี้ประกาศไว้ว่าปี 2011 จะทำให้ปริมาณขยะและของเสียของบริษัทลดลง 17% จากปี 2007 ให้ได้ และยังมีความท้าทายจากที่ยังมีการใช้พลาสติก PVC อยู่ แม้ว่าปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่ของผลิตภัณฑ์ไนกี้จะเลิกใช้ PVC ไปแล้วก็ตาม
อ้างอิงจาก : www.green.in.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น